1. สถานที่ติดต่อขอใช้น้ำ
ผู้ต้องการใช้น้ำประปา ติดต่อขอแบบคำขอใช้น้ำประปา ได้ที่ กปภ.สาขาทุกแห่งในวันและเวลาราชการ โดยกรอกแบบคำขอให้ถูกต้อง แล้วยื่นแบบคำขอพร้อมด้วยหลักฐาน ที่ กปภ.สาขา ในพื้นที่ ที่ขอใช้น้ำประปา
2. หลักฐานที่ต้องนำมาแสดง
- บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐ พร้อมสำเนาบัตรของผู้ขอใช้น้ำและลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
- สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอติดตั้งประปา และ/หรือสำเนาทะเบียนบ้านฉบับที่มีชื่อผู้ขอติดตั้งประปาอยู่ในทะเบียนบ้าน
- กรณีผู้ขอติดตั้งประปามิใช่เจ้าบ้าน หรือเจ้าของบ้าน จะต้องมีสำเนาทะเบียนบ้านฉบับที่มีชื่อผู้ขอใช้น้ำอยู่ในทะเบียนบ้าน และให้เจ้าบ้านหรือเจ้าของบ้านทำหนังสือยินยอม พร้อมแนบหลักฐานสำเนาบัตรประจำตัวและสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าบ้าน หรือเจ้าของบ้านด้วย ในกรณีผู้ขอใช้น้ำเป็นบิดา มารดา บุตร คู่สมรสของเจ้าบ้าน หรือเจ้าของบ้าน ให้ยกเว้นไม่ต้องทำหนังสือยินยอม
- หนังสือ หรือเอกสารใดๆ ที่แสดงว่าผู้ขอใช้น้ำเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านที่จะขอติดตั้งประปา ในกรณีเจ้าของบ้านยังมิได้ย้ายเข้าอยู่ในทะเบียนบ้าน หรือย้ายเข้าอยู่ในทะเบียนบ้านแล้วแต่ในทะเบียนบ้านมิได้ระบุว่าเป็นเจ้าบ้าน
- กรณีขอติดตั้งประปาเป็นหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ บ้านพักของทางราชการและรัฐวิสาหกิจ สถานฑูต สถานกงสุล วัด และสถานที่ประกอบพีธีทางศาสนาต่างๆ ที่ได้จดทะเบียนมีใบอนุญาตแล้ว ต้องให้หัวหน้าส่วนราชการ องค์การ หรือผู้มีอำนาจตามกฏหมายเป็นผู้ลงนามในแบบคำขอติดตั้งประปา และเป็นคู่สัญญาใช้น้ำประปากับ กปภ.
- กรณีผู้ขอติดตั้งประปาเป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ ธนาคารพาณิชย์ โรงเรียนเอกชน และนิติบุคคลอื่นๆ ให้ผู้จัดการหรือเจ้าของผู้มีอำนาจตามกฏหมาย เป็นผู้ลงนามในแบบคำขอติดตั้งประปา และเป็นคู่สัญญาใช้น้ำประปากับ กปภ. ในการดำเนินการข้างต้น หากเจ้าของบ้าน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้จัดการ หรือเจ้าของบริษัท ห้าง ร้าน ฯลฯ ไม่สามารถจะยื่นคำขอ และ/หรือ เป็นคู่สัญญาใช้น้ำประปาด้วยตนเอง ให้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำการแทนได้ และผู้รับมอบอำนาจจะต้องนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสำเนาทะเบียนบ้านฉบับที่มีชื่อผู้รับมอบอำนาจให้ไว้แก่ กปภ.
3. ขั้นตอนการดำเนินการติดตั้งประปา ของ กปภ.สาขา
- เมื่อท่านยื่นคำขอใช้น้ำประปาตามแบบฟอร์มคำร้อง ท่านต้องชำระเงินมัดจำ ในการติดตั้งวางท่อประปา ตามตารางอัตราค่าธรรมเนียม แล้ว เจ้าหน้าที่จะออกใบเสร็จรับเงินให้ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จะเดินทางไปสำรวจสถานที่ และ จัดทำแบบแปลนแผนผัง หรือ พิมพ์เขียวพร้อมประมาณการค่าใช้จ่าย และจะแจ้งให้ผู้ขอใช้น้ำทราบโดยเร็วที่สุด
- เมื่อผู้ขอใช้น้ำได้รับแจ้งประมาณการค่าติดตั้งประปาแล้ว จะต้องนำเงินมาชำระภายใน 60 วัน และเมื่อ กปภ.สาขา ได้รับเงินแล้ว ก็จะดำเนินการ ติดตั้งประปา และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ใช้น้ำของ กปภ.ต่อไป แต่ ถ้าไม่ชำระเงินภายในเวลาที่กำหนด กปภ.จะริบเงินมัดจำ และ ถือว่าท่านสละสิทธิ์ การขอใช้น้ำประปาครั้งนี้ อนึ่ง ผู้ขอใช้น้ำที่ยื่นคำร้อง และ ชำระเงินค่าใช้จ่ายในการติดตั้งประปาไว้แล้ว ต่อมาปฏิเสธที่จะให้ กปภ.วางท่อและติดตั้งมาตรวัดน้ำ ภายในเวลาที่ กปภ. แจ้ง ให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ถือว่าผู้ขอใช้น้ำสละสิทธิ์การใช้น้ำ และ กปภ. จะคืนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งประปาที่ได้ชำระไว้ โดยหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการในอัตรา ร้อยละ 20
4. ค่าธรรมเนียมการขอใช้น้ำประปา
ผู้ขอใช้น้ำจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการขอใช้น้ำประปาตามอัตราที่ กปภ. ได้กำหนดไว้ในตารางซึ่งจำแนกตามชนิดและขนาดมาตรวัดน้ำ ดังนี้
อัตราค่าธรรมเนียมการขอใช้น้ำประปา
ขนาดมาตร (นิ้ว) | ค่ามัดจำ (บาท) | ค่าประกันการใช้น้ำ (บาท) | ค่าแรงและอุปกรณ์ (บาท) | รวม (บาท) |
* 1/2 | ไม่เก็บ | 500 | 3,600 | 4,100 |
* 3/4 | ไม่เก็บ | 1,000 | 4,700 | 5,700 |
1 | 1,000 | 1,500 | คิดค่าใช้จ่ายตามประมาณการ |
1 1/2 | 1,500 | 3,000 | คิดค่าใช้จ่ายตามประมาณการ |
2 | 2,500 | 4,000 | คิดค่าใช้จ่ายตามประมาณการ |
2 1/2 | 4,000 | 4,000 | คิดค่าใช้จ่ายตามประมาณการ |
3 | 5,000 | 10,000 | คิดค่าใช้จ่ายตามประมาณการ |
4 | 10,000 | 15,000 | คิดค่าใช้จ่ายตามประมาณการ |
6 | 20,000 | 21,000 | คิดค่าใช้จ่ายตามประมาณการ |
8 | 20,000 | 30,000 | คิดค่าใช้จ่ายตามประมาณการ |
ราคาข้างต้นยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
* เป็นการติดตั้งมาตรวัดน้ำไม่เกิน เส้นผ่าศูนย์กลาง 1/2" และ 3/4" เฉพาะส่วนเหมาจ่ายที่มีระยะห่างจากตัวมาตรวัดน้ำไปถึงท่อเมนไม่เกิน 10 เมตร โดยค่าใช้จ่ายอาจเปลี่ยนแปลงได้
** ปรับปรุง ณ วันที่ 28 กันยายน 2549 ตามประกาศ หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการใช้น้ำประปาและอัตราค่าบริการ(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2549
- ค่ามัดจำ ผู้ขอใช้น้ำ ต้องชำระให้ แก่ กปภ.สาขา ในวันที่ขอติดตั้ง เพื่อนำไปใช้ในการสำรวจ สถานที่และประมาณราคาค่าใช้จ่าย ในการติดตั้ง เมื่อ กปภ.สาขา ได้รับค่าแรงงาน และ ค่าอุปกรณ์ในการติดตั้งประปาแล้ว จะคืนค่ามัดจำทันที โดยได้หักคืนในประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะชำระเงินไว้แล้ว
- ค่าประกันการใช้น้ำ กปภ.สาขา จะเรียกเก็บตามขนาดมาตรวัดน้ำเพื่อเป็นหลักประกันในการชำระค่าน้ำประปาแต่ละเดือน ผู้ใช้น้ำจะไก้รับค่าประกัน คืนเต็มจำนวน เมื่อยกเลิกการใช้น้ำและไม่มีหนี้ค้างชำระค่าน้ำประปา (ผู้ขอใช้น้ำประเภทหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การอื่นที่ได้จดทะเบียนมีใบอนุญาตแล้วจะได้รับค่ายกเว้น ค่าประกัน)
- ค่าแรงและค่าวัสดุอุปกรณ์ อันได้แก่ ค่าแรงงาน มาตรวัดน้ำ ท่อประปาและอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในการติดตั้ง นับจากมาตรวัดน้ำถึงจุดประสานท่อ ซึ่งไม่รวมท่อ และอุปกรณ์หลังมาตรวัดน้ำ ที่ผู้ขอใช้น้ำต้องดำเนินการเอง การติดตั้งมาตรวัดน้ำไม่เกิน เส้นผ่าศูนย์กลาง 3/4 นิ้ว และมีระยะห่างจากท่อเมนจ่ายน้ำประปาไม่เกิน 10 เมตร จะใช้ราคาเหมาจ่ายซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
5. การติดตั้งอุปกรณ์หลังมาตรวัดน้ำ
- ส่วนท่อและอุปกรณ์หลังมาตรวัดน้ำ ผู้ขอใช้น้ำจะต้องดำเนินการเอง
- การติดตั้งอุปกรณ์หลังมาตรวัดน้ำ ต้องเป็นไปตามรูปแบบที่ กปภ.กำหนดและผู้ขอใช้น้ำจะต้องติดตั้งเองให้แล้วเสร็จก่อนที่ กปภ.จะไปติดตั้งมาตรให้แก่ผู้ขอใช้น้ำ ทั้งนี้อาจขอให้ กปภ. ติดตั้งส่วนหลังมาตรวัดน้ำ โดยผู้ขอใช้น้ำจะต้องชำระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนนี้เอง
6. การจดหรืออ่านมาตรวัดน้ำ
เมื่อ กปภ.สาขา ได้ดำเนินการติดตั้งมาตรวัดน้ำให้แก่ผู้ขอใช้น้ำประปาแล้ว พนักงานอ่านมาตร จะไปทำการอ่านมาตรวัดน้ำของผู้ใช้น้ำในเดือนถัดไปที่ตรงกับวันที่ได้ติดตั้งมาตรวัดน้ำ เพื่อออกใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปา โดยให้ถือว่าเป็นค่าน้ำประปาประจำเดือนนั้น ตัวอย่างเช่น ติดตั้งประปาให้กับผู้ใช้น้ำวันที่ 15 กันยายน ผู้ใช้น้ำรายนี้จึงขึ้นทะเบียนเป็นผู้ใช้น้ำรายใหม่กับการประปาส่วนภูมิภาค ในวันที่ 15 กันยายน ดังนั้นการอ่านมาตรวัดน้ำจะเริ่มอ่านในวันที่ 15 ตุลาคม และให้ถือว่าเป็นค่าน้ำประจำเดือนตุลาคม ในกรณีวันอ่านมาตรตรงกับวันหยุดราชการ พนักงานอ่านมาตรจะทำการอ่านมาตรล่วงหน้าก่อนถึงวันหยุดราชการ อนึ่ง กปภ.สาขา อาจปรับระบบการอ่านมาตรวัดน้ำรายใหม่ให้สอดคล้องกับระบบการอ่านมาตรในแต่ละชุมชนก็ได้ ในกรณีผู้ใช้น้ำสงสัยเกี่ยวกับการอ่านมาตรหรือการจดหน่วยมาตรวัดน้ำ สามารถสอบถามรายละเอียดได้จากพนักงานอ่านมาตรหรือ กปภ.สาขา ในพื้นที่
7. การคิดราคาค่าน้ำประปาของ กปภ.
การคิดราคาค่าน้ำประปาในใบเสร็จรับเงินค่าน้ำแต่ละเดือนของ กปภ. จะคิดคำนวณจากปริมาณการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำแต่ละรายที่อ่านจากมาตรวัดน้ำแล้วคูณด้วยอัตราค่าน้ำประปาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ค่าน้ำที่ได้ ต้องไม่น้อยกว่าอัตราค่าน้ำประปาขั้นต่ำของผู้ใช้น้ำแต่ละประเภท ในใบเสร็จค่าน้ำ จะมีค่าน้ำที่ใช้ ค่าบริการทั่วไปและภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดด้วย
ค่าน้ำประปา = (ค่าน้ำที่ใช้ + ค่าบริการทั่วไป) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม
8. อัตราค่าน้ำและค่าน้ำขั้นต่ำ
การกำหนดอัตราค่าน้ำขั้นต่ำ ของผู้ใช้น้ำแต่ละประเภท คิดบนพื้นฐานของความจำเป็น ที่ผู้ใช้น้ำต้องการใช้น้ำประปา ในแต่ละเดือน กล่าวคือ ประชาชนในแต่ละชุมชนได้ร้องขอให้รัฐลงทุนก่อสร้างระบบประปา รัฐได้นำเงินภาษีบางส่วน มาดำเนินการก่อสร้างระบบประปา ให้แก่ชุมชนพร้อมทั้งกำหนดอัตราค่าน้ำประปา ผู้ใช้น้ำเป็นผู้จ่าย หากระบบประปาถูกสร้างขึ้นมา แล้วไม่มีการใช้น้ำประปา ก็จะเกิดการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ เงินค่าน้ำขั้นต่ำนี้ จะถูกนำไปใช้ ในการบริหาร จัดการ เช่นเดียวกับเงินค่าน้ำประปาที่เก็บได้จากประชาชน
ดูตารางอัตราค่าน้ำปัจจุบัน คลิ๊กที่นี่
9. อัตราค่าบริการทั่วไป
ค่าบริการทั่วไป จะถูกเรียกเก็บเงินเป็นรายเดือน ตามขนาดของมาตรวัดน้ำ ดังตาราง เงินเหล่านี้จะนำไปใช้ในการบำรุงรักษาเส้นท่อและมาตรวัดน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี (ยกเว้นเส้นท่อภายในบ้าน)
อัตราค่าบริการค่าน้ำทั่วไป
ขนาดมาตร (นิ้ว) | ค่าบริการทั่วไป เดือนละ(บาท) |
1/2 | 30 |
3/4 | 50 |
1 | 60 |
1 1/2 | 90 |
2 | 350 |
2 1/2 | 450 |
3 | 450 |
4 | 550 |
6 | 950 |
8 | 1,200 |
10. การชำระเงินค่าน้ำประปามีหลายวิธี
ช่องทางการชำระค่าน้ำประปา ซึ่งขึ้นอยู่กับความสะดวกสบายของลูกค้า
- กปภ.สาขา ในพื้นที่ใช้บริการ ตั้งแต่วัน จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30-15.30 น. (ป.บางสาขาเปิดให้บริการในวันหยุดด้วย ซึ่งลูกค้าสามารถตรวจสอบได้ที่ ป.ในพื้นที่)
- หักบัญชีเงินฝากธนาคาร 14 แห่ง ทุกสาขาทั่วประเทศ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารยูโอบี ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารไทยธนาคาร ธนาคารธนชาต ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์เพื่อรายย่อย ธนาคารทิสโก้ และธนาคารอิสลามฯ
- ผ่านตัวแทนชำระค่าน้ำประปาดามจุดบริการต่างๆ (เฉพาะใบแจ้งหนี้ที่มีบาร์โค้ดเท่านั้น)ได้แก่
- ร้าน 7-Eleven, ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าที่มีป้ายสัญลักษณ์ "COUNTER SERVICE"
- ร้าน Jay Mart ที่มีป้ายสัญลักษณ์ "JAY MART PAY POST"
- ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ ที่มีป้ายสัญลักษณ์ "PAY AT POST"
- สำนักงาน บมจ.ทีโอที ทุกแห่งทั่วประเทศ ที่มีป้ายสัญลักษณ์ "JUST PAY"
- ศูนย์บริการ AIS และร้าน TELEWIZ ภายใต้สัญลักษณ์ "mPAY STATION"
- จุดบริการ LOTUS ณ เทสโก้ โลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต โลตัสเอ็กซ์เพรส ตลาดโลตัส และห้างเทสโก้ โลตัส
- เคาน์เตอร์ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขาทั่วประเทศ
- ผ่านตู้ ATM ของธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขาทั่วประเทศ
หมายเหตุ การรับชำระค่าน้ำตามจุดบริการต่างๆ ผู้ใช้น้ำเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราตามที่แต่ละจุดบริการกำหนด
11. การงดจ่ายน้ำประปา
กปภ.สาขา จะงดจ่ายน้ำประปาให้แก่ผู้ใช้น้ำเมื่อผู้ใช้น้ำปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับ ของ กปภ.ในกรณีต่อไปนี้
- ผู้ใช้น้ำผิดนัดการชำระเงินค่าน้ำ ภายหลังที่ กปภ.สาขา แจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้วไม่น้อยกว่า 7 วัน
- ยินยอมให้ผู้อื่นต่อน้ำประปาไปใช้ในสถานที่อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก กปภ.สาขา
- ละเมิดการใช้น้ำหรือกระทำการใดๆให้ กปภ.ได้รับความเสียหายหรือไม่ยอมชำระค่าเบี้ยปรับหรือค่าเสียหายตามที่ กปภ.สาขา ขอเรียกเก็บเมื่อถูกงดจ่ายน้ำประปาแล้ว แต่ กปภ.ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา หากผู้ใช้น้ำนำเงินมาชำระหนี้ค่าน้ำที่ค้างชำระทั้งหมด ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ งดจ่ายน้ำแล้ว กปภ.สาขา จะทำการติดตั้งมาตรวัดน้ำให้ใช้ตามเดิม ทั้งนี้ผู้ใช้น้ำจะต้องชำระค่าธรรมเนียมบรรจบมาตรวัดน้ำ ตามอัตราที่ กปภ.กำหนด แต่ถ้าพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่งดจ่ายน้ำ ผู้ใช้น้ำจะต้องยื่นคำขอใช้น้ำ และชำระค่าใช้จ่ายในการติดตั้งประปาเช่นเดียวกับผู้ขอใช้น้ำรายใหม่หากยังมีค่าน้ำที่ค้างชำระ ก็จะต้องจ่ายทั้งหมดก่อนด้วย
12. การบรรจบมาตรวัดน้ำ
กรณีผู้ใช้น้ำถูกงดจ่ายน้ำประปา (ตัดมาตร) แล้วมีความประสงค์จะเปิดใช้น้ำประปาต่อไปอีก ให้ยื่นคำร้องขอบรรจบมาตรวัดน้ำและชำระค่าธรรมเนียมดังนี้ค่าธรรมเนียมขอบรรจบมาตรวัดน้ำ
ขนาดมาตร | ค่าธรรมเนียมบรรจบมาตร |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 1/2 นิ้ว | 300 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 3/4 นิ้ว | 600 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว | 850 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 1/2 นิ้ว | 1,200 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว | 2,900 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 1/2 นิ้ว | 3,400 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว | 4,100 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว | 5,500 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว | 7,700 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้วขึ้นไป | 9,500 บาท |
หมายเหตุ ราคานี้ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ค่าท่ออุปกรณ์เพิ่มเติม ในกรณีที่จำเป็น ซึ่งต้องคิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม ตามความเป็นจริง
13. การฝากมาตรวัดน้ำ
หากผู้ใช้น้ำคาดว่าจะไม่ได้ใช้น้ำประปาเป็นระยะเวลานานติดต่อกันตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป ควรยื่นคำร้องขอฝากมาตรวัดน้ำไว้กับ กปภ.สาขา พร้อมด้วยหลักฐานดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐ
- ใบเสร็จค่าน้ำประปาเดือนสุดท้าย
- ชำระค่าธรรมเนียมฝากมาตร ตามตาราง ข้างล่างนี้
การฝากมาตรวัดน้ำไว้กับ กปภ.สาขา ที่ให้บริการ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้น้ำ กล่าวคือ สามารถประหยัดค่าบริการรายเดือนทั่วไป และค่าน้ำประปาขั้นต่ำ ที่ต้องจ่ายให้แก่ กปภ. ดังตัวอย่าง เช่น ผู้ใช้น้ำประเภท ที่อยู่อาศัย ต้องชำระค่าน้ำประปาขั้นต่ำ ในอัตรา 50 บาท บวกค่าบริการทั่วไป รายเดือน เดือนละ 30 บาท รวมเป็นเงินที่จะต้องจ่ายเดือนละ 80 บาท หรือปี ละ 960 บาท (ราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หากผู้ใช้น้ำขอใช้วิธีฝากมาตรวัดน้ำ จะเสียค่าใช้จ่ายเพียงปีละ 300-400 บาท เท่านั้น ซึ่งประหยัดกว่าและไม่ต้องเสียเวลาไปชำระเงินค่าน้ำประปาแต่ละเดือนอีกด้วย
อัตราค่าธรรมเนียมฝากมาตรวัดน้ำ
การฝากมาตรวัดน้ำ สามารถกระทำต่อเนื่องได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี หากเกินกำหนดจะถูกระงับสิทธิการใช้น้ำ และเมื่อครบ 1 ปี ต้องยื่นคำร้องขอฝาก มาตรวัดน้ำต่อไป ภายใน 30 วัน นับแต่วันครบกำหนด ทั้งนี้ผู้ใช้น้ำ จะต้องชำระเงินค่าน้ำ ในส่วนที่ใช้ไปก่อนการฝากมาตรวัดน้ำ และหากต้องการเปิดใช้น้ำอีก ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการบรรจบมาตรอีกครั้งด้วย
อัตราค่าธรรมเนียมฝากมาตรวัดน้ำ
ขนาดมาตร | ค่าธรรมเนียมถอดและ ฝากมาตรวัดน้ำ ในปีแรก | ค่าธรรมเนียมถอด และฝากมาตรวัดน้ำ ในปีที่สอง | ค่าธรรมเนียม บรรจบมาตร |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 1/2 นิ้ว | 400 บาท | 300 บาท | 100 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 3/4 นิ้ว | 500 บาท | 400 บาท | 100 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว | 700 บาท | 550 บาท | 150 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 1/2 นิ้ว | 1,000 บาท | 800 บาท | 200 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว | 2,500 บาท | 2,100 บาท | 400 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 1/2 นิ้ว | 3,000 บาท | 2,600 บาท | 400 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว | 3,500 บาท | 2,900 บาท | 600 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว | 4,500 บาท | 3,500 บาท | 1,000 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว | 6,500 บาท | 5,300 บาท | 1,200 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้วขึ้นไป | 8,000 บาท | 6,500 บาท | 1,500 บาท |
หมายเหตุ : ราคานี้ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าท่ออุปกรณ์ เพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น ซึ่งต้องคิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม ตามความเป็นจริง
14. การแจ้งเหตุขัดข้องในการใช้น้ำประปา
ในกรณีที่ผู้ใช้น้ำไม่ได้รับความสะดวกในด้านบริการ หรือมีความประสงค์จะแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับการให้บริการของ กปภ. สามารถ ดำเนินการได้ดังนี้
- สอบถามรายละเอียดหรือแจ้งเรื่องราวต่างๆ ได้โดยตรงกับพนักงานประปา ผู้จัดการประปา หรือ ผู้อำนวยการเขต ที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่นั้นๆ ได้ทันที หรือ อาจติดต่อทางโทรศัพท์ หรือติดต่อที่ กปภ.สาขา
- ส่งจดหมายแสดงข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะมาได้ที่ ตู้ ปณ. 67 ปณจ.หลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 ซึ่ง กปภ.ได้จัดเตรียมเพื่อรับข้อคิดเห็นจากประชาชนโดยเฉพาะ
- ผู้ใช้น้ำสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร ความคืบหน้าโครงการต่างๆ ของ กปภ. การจัดซื้อจัดจ้าง และร้องเรียน เรื่องราวต่างๆ ได้โดยผ่านทาง อินเตอร์เนต เวปไซด์ของ กปภ.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ http://www.pwa.co.th หรือ E-Mail : pr@pwa.co.th
- ในกรณี พบเห็นท่อแตกรั่ว กรุณาแจ้งให้ กปภ.สาขา ที่ให้บริการทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไขทันที หรือแจ้งที่ หมายเลขโทรศัพท์ 1662
- การใช้หมายเลขโทรศัพท์ 1662 แจ้งท่อแตกท่อรั่ว ในส่วนภูมิภาค ผู้รับแจ้ง อาจไม่ใช่พนักงานประปาในพื้นที่ ที่มีท่อแตกรั่ว จึงขอให้ผู้แจ้งระบุพื้นที่ ที่ใช้บริการหรือพื้นที่ ที่พบท่อแตกรั่ว ว่าอยู่ในเขตบริการ ของ กปภ.สาขาใด เพื่อพนักงานจะได้แจ้งประสานงาน ให้ กปภ.สาขา ผู้รับผิดชอบแก้ไขโดยด่วนต่อไป
15. การตรวจสอบมาตรวัดน้ำ
หากผู้ใช้น้ำสงสัยว่ามาตรวัดน้ำคลาดเคลื่อน สามารถยื่นคำร้องไปที่ กปภ.สาขา ในพื้นที่ ที่ท่านใช้บริการ เพื่อขอให้ตรวจสอบมาตรวัดน้ำที่ใช้อยู่ และหากพบว่ามีการคลาดเคลื่อน กปภ.สาขา จะดำเนินการซ่อม หรือเปลี่ยนให้ใหม่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่หากปรากฎว่า มาตรวัดน้ำอยู่ในสภาพใช้การได้ดี ผู้ใช้น้ำจะต้องเสียค่าธรรมเนียม ในการตรวจสอบมาตร ดังนี้
การตรวจสอบมาตรวัดน้ำ
ขนาดมาตรวัดน้ำ | ค่าธรรมเนียมตรวจสอบมาตรวัดน้ำ |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 1/2 นิ้ว | 250 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 3/4 นิ้ว | 250 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว | 500 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 1/2 นิ้ว | 800 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว | 1,600 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 1/2 นิ้ว | 1,600 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว | 2,400 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว | 4,000 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว | 5,400 บาท |
มาตรวัดน้ำขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้วขึ้นไป | 7,000 บาท |
16. การขอเปลี่ยนขนาดมาตรวัดน้ำ
ผู้ขอใช้น้ำต้องนำหลักฐานไปแสดงดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐ (พร้อมสำเนา)
- ใบเสร็จค่าน้ำประปาเดือนสุดท้าย หรือสำเนา (ถ้ามี)
- ใบเสร็จค่าประกันการใช้น้ำ (ถ้ามี)
ในการลดหรือเพิ่มขนาดมาตรวัดน้ำ ตามที่ผู้ขอใช้น้ำร้องขอ ผู้ใช้น้ำต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่นเดียวกับ การขอใช้น้ำประปาในครั้งแรก โดย กปภ. จะคืนเงินค่าประกันการใช้น้ำ ที่เรียกเก็บไว้เดิม ให้แก่ผู้ขอใช้น้ำ
17. การย้ายสถานที่ใช้น้ำ
หากผู้ใช้น้ำประสงค์ที่จะย้ายสถานที่ใช้น้ำ หรือ เปลี่ยนจุดประสานท่อจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ภายในเขตพื้นที่ให้บริการ ของ กปภ.สาขา แห่งเดียวกัน โดยไม่เปลี่ยนขนาดของมาตรวัดน้ำ จะต้องยื่นคำร้องขอย้ายสถานที่ใช้น้ำ กับ กปภ.สาขา พร้อมหลักฐานดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐ (พร้อมสำเนา)
- สำเนาทะเบียนบ้านที่จะย้ายสถานที่ใช้น้ำไป
- ใบเสร็จค่าน้ำประปาครั้งสุดท้าย หรือสำเนา (ถ้ามี)
- ใบเสร็จค่าประกันการใช้น้ำ (ถ้ามี)
ค่าธรรมเนียมต่างๆเช่นเดียวกับการขอติดตั้งใหม่ แต่จะได้รับการยกเว้นในส่วนของค่ามาตรวัดน้ำและค่าประกันการใช้น้ำ
18. การโอนสิทธิ์ในการใช้น้ำประปา
การโอนสิทธิ์ในการใช้น้ำประปา อาจมีได้ในหลายกรณี เช่น มีการซื้อขายบ้านที่ติดตั้งประปาไว้นั้น หรือ ผู้ขอใช้น้ำประปาเดิม ย้ายที่อยู่หรือถึงแก่กรรม ซึ่งผู้ใช้น้ำต้องแจ้งให้ กปภ.สาขา ทราบ และ ให้ผู้รับโอน มาลงนามในสัญญาใช้น้ำกับ กปภ. การโอนสิทธิ์ในการใช้น้ำประปา ต้องนำหลักฐานมาแสดงดังต่อไปนี้
- สำเนาบัตรประจำตัวของผู้โอนและผู้รับโอน
- สำเนาทะเบียนบ้านที่ติดตั้งประปาของผู้รับโอน ที่ผู้รับดอนมีชื่อในสำเนาทะเบียนบ้านหรือเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์
- สำเนาใบมรณะบัตรของผู้ใช้น้ำประปาเดิม (ในกรณีที่ผู้ขอใช้น้ำประปาเดิมถึงแก่กรรม)
- สำเนาสัญญาซื้อขาย (ในกรณีที่มีการซื้อขายบ้าน)
- ใบเสร็จค่าน้ำประปาครั้งสุดท้ายของผู้โอน หรือสำเนา (ถ้ามี)
19. การขอยกเลิกในการใช้น้ำประปาและขอเงินประกันคืน
หลักฐานที่จะต้องนำไปแสดงเพื่อขอรับเงินค่าประกันการใช้น้ำประปาคืน มีดังนี้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐของผู้ใช้น้ำ
- ใบเสร็จค่าประกันการใช้น้ำ แต่ถ้าหากไม่มีใบเสร็จค่าประกันการใช้น้ำ ผู้ขอยกเลิกในการใช้น้ำประปาและขอเงินประกันคืนมีความจำเป็นต้องไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจ เพื่่อใช้เป็นหลักฐานนำมาแสดงแทนใบเสร็จค่าประกันการใช้น้ำ
- ใบเสร็จค่าน้ำประปาครั้งสุดท้ายของผู้โอน หรือสำเนา (ถ้ามี)
ผู้ใช้น้ำประปา อาจทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปทำการแทนได้ โดยต้องมีผู้ลงนามเป็นพยาน 2 คน และปิดอากรแสตมป์ ตามกฎหมาย ผู้รับมอบอำนาจจะต้องนำหลักฐานตามข้อ 1-3 และ หลักฐานของผู้รับมอบอำนาจไปแสดงด้วย เมื่อท่านนำหลักฐานดังกล่าวไป แสดงต่อ กปภ.สาขา ในพื้นที่ของท่าน และเขียนคำร้องขอเลิกใช้น้ำประปา กปภ.สาขา จะขอตรวจดูว่าท่านมียอดค้างชำระค่าน้ำประปาอยู่หรือไม่ หากไม่มีค่าน้ำประปาค้างชำระ ก็จะได้รับเงินประกันการใช้น้ำคืนเต็มตามจำนวน แต่หากมีค่าน้ำประปาค้างชำระ กปภ.สาขา จะหักจากเงินประกันการใช้น้ำ และคืนเงินในส่วนที่เหลือ ( ถ้ามี ) ให้แก่ผู้ใช้น้ำ
20. ข้อควรระวังในการใช้น้ำประปา
- การละเมิดการใช้น้ำประปา เช่น การต่อท่อประปาตรงโดยไม่ผ่านมาตรวัดน้ำ/การลักใช้น้ำ ตลอดจนการกระทำใดๆ ที่ทำให้มาตรวัดน้ำ วัดค่าผิดไปจากการใช้น้ำประปาจริงๆ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เท่ากับเป็นการลักทรัพย ์และ ทำให้เสียทรัพย์ของ กปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ละเมิดจะถูกดำเนินคดีฟ้องร้องทั้งทางแพ่ง และทางอาญา
- กรณีมาตรวัดน้ำชำรุดหรือต้องการย้ายมาตรวัดน้ำ ผู้ใช้น้ำต้องแจ้งให้ กปภ.สาขา ทราบโดยเร็วที่สุด เพื่อ กปภ.สาขา จะได้เข้าไปทำการซ่อมแซมแก้ไขต่อไป
- หากพบข้อชำรุด/บกพร่อง เช่น การแตกรั่วขอเส้นท่อภายนอกมาตรวัดน้ำ โปรดแจ้งให้ กปภ.สาขา ทราบ เพื่อที่จะได้ทำการแก้ไขต่อไป
- ผู้ใช้น้ำไม่ควรติดตั้งปั๊มน้ำโดยตรงจากเส้นท่อ ควรปล่อยให้น้ำประปาลงบ่อพักน้ำเสียก่อน แล้วจึงสูบน้ำขึ้น จากบ่อพักไปใช้ การติดตั้งปั๊มน้ำ โดยตรงจากเส้นท่อ อาจทำให้ท่อ และมาตรวัดน้ำชำรุดได้ง่าย รวมทั้งเป็นการทำให้ผู้ใช้น้ำรายอื่นเดือดร้อนด้วย การมีถังหรือบ่อพักน้ำสำรองในบ้าน ประมาณ 500 - 1,000 ลิตร จะทำให้เกิดความมั่นใจว่า ท่านมีน้ำประใช้ตลอดเวลา ถึงแม้จะมีท่อประปาแตกอยู่นอกบ้านก็ตาม
- ผู้ใช้น้ำจะต้องไม่กระทำการซ่อมแซม แก้ไข ดัดแปลง หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดกับมาตรวัดน้ำ ประตูน้ำ ( วาล์ว ) หรือท่ออุปกรณ์นอกมาตรวัดน้ำเป็นอันขาด
- กรณีที่ลวดหรือวัตถุใดๆที่ กปภ. ได้ทำการตีตราผนึกไว้ที่ตัวมาตร หรือประตูน้ำ เกิดชำรุดเสียหายหรือสูญหายไป รวมทั้งตัวมาตรวัดน้ำ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ใดก็ตาม ผู้ใช้น้ำ จะต้องแจ้งให้ กปภ.สาขา ทราบโดยเร็วที่สุด อย่างช้าไม่เกิน 3 วัน
- ผู้ใช้น้ำจะต้องชำระเงินค่าน้ำ ค่าบริการอื่นๆและค่าเสียหายทันทีที่พนักงาน กปภ. ได้นำใบเสร็จรับเงิน หรือใบแจ้งหนี้ขอเก็บเงิน มิฉะนั้นผู้ใช้น้ำจะต้องนำเงินไปชำระที่ กปภ.สาขา ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือเตือน หากพ้นกำหนด ผู้ใช้น้ำยังไม่ไปชำระ กปภ. จะงดจ่ายน้ำ ( ตัดมาตรวัดน้ำ )
- การชำระค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมใดๆ ผู้ใช้น้ำจะต้องขอรับใบเสร็จรับเงินจากเจ้าหน้าที่ผู้รับเงินไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง
- เมื่อมีกลุ่มบุคคลใดมาติดต่อรับจ้างดัดแปลงหรือแก้ไขมาตรวัดน้ำหรืออุปกรณ์ประกอบ โปรดแจ้งให้ กปภ.สาขา ในพื้นที่ของผู้ใช้น้ำทราบทันที ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยกันรักษาผลประโยชน์ และทรัพย์สินของทางราชการ สำหรับกลุ่มบุคคลที่อ้างตนเป็นพนักงาน กปภ. มาติดต่อกับผู้ใช้น้ำครั้งใดก็ตาม ขอให้ผู้ใช้น้ำตรวจสอบหนังสือแนะนำตัว ของพนักงานในการเข้ามาตรวจสอบมาตรวัดน้ำ เช่น บัตรประจำตัวพนักงาน กปภ. โดยการจดเลขที่บัตร ชื่อ สกุลไว้ ก่อนที่จะให้พนักงานเข้าทำการตรวจสอบมาตรวัดน้ำ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการกล่าวอ้างเป็นพนักงาน กปภ.
21. เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับระบบน้ำประปา
คำนิยามที่ควรรู้ในระบบประปา
- มาตรวัดน้ำ หมายถึง เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ กปภ.สาขา ได้ติดตั้งให้กับผู้ใช้น้ำเพื่อวัดปริมาณน้ำ
- เครื่องกั้นน้ำ หมายถึง ประตูน้ำที่ติดตั้งอยู่หน้าหรือหลังมาตรวัดน้ำ ซึ่งมีไว้สำหรับปิดและเปิดน้ำ
- จุดที่ติดตั้งมาตรวัดน้ำ หมายถึง สถานที่ที่ถูกกำหนดเป็นที่ตั้งมาตรวัดน้ำและเครื่องกั้นน้ำ เพื่อให้มีการอ่านมาตรวัดน้ำ ได้อย่างสะดวก
- ท่อและอุปกรณ์ภายใน หมายถึง ท่อ และอุปกรณ์ที่ต่อจากหลังมาตรวัดน้ำ เข้าสู่ภายในบริเวณสถานที่ใช้น้ำ หรืออาคารของผู้ใช้น้ำ
- ท่อและอุปกรณ์ภายนอก หมายถึงท่อและอุปกรณ์ที่ต่อจากมาตรวัดน้ำออกไปบรรจบกับท่อจ่ายน้ำ
- ค่าบริการทั่วไป หมายถึง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตามขนาดมาตรวัดน้ำที่ติดตั้ง เพื่อนำไปใช้ในการบำรุงรักษา ซ่อม หรือ เปลี่ยนมาตรวัดน้ำ อุปกรณ์และท่อจ่ายน้ำ
น้ำประปาได้มาฟรีหรือไม่
เมื่อพูดถึงการผลิตน้ำประปาหลายคนอาจมีความเข้าใจว่า น้ำประปาคือน้ำที่สูบขึ้นมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีอยู่โดยทั่วไป และไม่ต้องซื้อหา เมื่อสูบน้ำขึ้นมาแล้ว จ่ายผ่านไปตามเส้นท่อ เพื่อให้ประชาชนอย่างพวกเราได้ใช้กัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว กว่าที่เราทุกคนจะได้มีน้ำประปาที่ใสสะอาด ปลอดภัย ไว้สำหรับอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันนั้น น้ำประปาต้องผ่านกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน ได้แก่ การจัดหาแหล่งน้ำดิบที่มีคุณภาพ และ ปริมาณเพียงพอที่จะใช้ในการผลิตน้ำประปา การตรวจสอบคุณภาพของน้ำดิบ การปรับปรุงคุณภาพของน้ำดิบ การกำจัดสิ่งที่ปนเปื้อนมากับน้ำ การทำให้ตกตะกอน การกรอง จนใสสะอาด การฆ่าเชื้อโรค และ ตรวจสอบคุณภาพน้ำ ก่อนสูบจ่ายไปให้กับประชาชน การปรับปรุงพัฒนาแหล่งนำดิบหรือการก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบผลิต และ วางท่อส่งน้ำเพิ่ม เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล ทั้งนี้ เพื่อให้มีน้ำประปาบริการอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อให้ผู้ไม่มีโอกาสใช้น้ำประปา ได้มีโอกาสใช้น้ำประปาจากการลงทุนวางท่อขยายเขตจ่ายน้ำ
น้ำที่มีกลิ่นคลอรีนมีอันตรายหรือไม่
กปภ.ใช้คลอรีนในการฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปา เพื่อให้น้ำประปามีคุณภาพได้มาตรฐานน้ำดื่มและมีความปลอดภัยต่อประชาชน น้ำประปาในบางพื้นที่อาจมีกลิ่นคลอรีนสูง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้แหล่งผลิตจ่ายน้ำ แต่ขอให้มั่นใจว่าปริมาณคลอรีนที่ผสมอยู่ในน้ำประปานั้น อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด กลิ่นคลอรีนในน้ำประปาแสดงถึงความปลอดภัยว่าน้ำประปาที่ส่งมาถึงบ้านท่านสะอาดปราศจากเชื้อโรคแน่นอน จึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือทำให้เจ็บป่วยเมื่อดื่มน้ำประปาอีกด้วย ถ้าท่านไม่คุ้นเคยกับกลิ่นคลอรีนที่เติมลงในน้ำประปา สามารถแก้ไขได้นิดเดียวเพียงแต่นำน้ำประปาใส่ภาชนะที่สะอาด ตั้งทิ้งไว้สักครู่ ( 30 นาที ) กลิ่นคลอรีนจะระเหยหมดไป ภาชนะที่รองรับน้ำประปาต้องมีความสะอาดด้วย จึงจะทำให้น้ำประปาที่เก็บไว้มีความสะอาดเมื่อนำไปใช้ โครงการน้ำประปาดื่มได้เป็นอย่างไร น้ำประปาของ กปภ.ที่ผลิตจากโรงกรองน้ำทุกแห่ง มีคุณภาพได้มาตรฐานและสามารถดื่มได้ โดยปราศจากอันตราย และ เพื่อให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น เพื่อให้ กปภ.จึงร่วมกับ กรมอนามัยจัดทำโครงการน้ำประปาดื่มได้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ให้ กปภ.ควบคุมการผลิตน้ำประปาให้มีความสะอาด ปลอดภัย ตามเกณฑ์คุณภาพขององค์การอนามัยโลก (WHO) และเสริมสร้างให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการบริโภคน้ำประปามากยิ่งขึ้น โดยการประกาศรับรองว่าน้ำประปาดื่มได้จากกรมอนามัย วิธีนี้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จากการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด และยังเป็นการลดปริมาณขยะจากขวดพลาสติก ตลอดจน เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชนในส่วนภูมิภาคอีกด้วย ในการดำเนินโครงการ กรมอนามัยจะเป็นผู้ตรวจสอบ วิเคราะห์คุณภาพน้ำประปาของ กปภ.อย่างละเอียด โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด จะเก็บตัวอย่างน้ำประปาในบริเวณต้นทาง ที่โรงกรองน้ำ และ ปลายทาง ของระบบจ่ายน้ำ หรือ บริเวณสถานที่สาธารณะ เช่น ตลาดสด โรงเรียน สถานที่ราชการ เพื่อนำมาวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย แห่งละ 2 ครั้ง ใช้ระยะเวลาห่างกันประมาณ 1-2 เดือน หากคุณภาพน้ำผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทั้ง 2 ครั้ง ก็จะประกาศรับรองให้เป็นพื้นที่น้ำประปาดื่มได้ ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นพื้นที่ที่ได้มีการปรับปรุงระบบท่อส่ง-จ่ายน้ำแล้ว หลังจากประกาศรับรองพื้นที่น้ำประปาดื่มได้แล้ว จะยังคงมีการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์คุณภาพน้ำบริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่า น้ำประปาในบ้านของผู้ใช้น้ำ อยู่ในเขตของพื้นที่น้ำประปาดื่มได้คุณภาพดีตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้น้ำควรหมั่นตรวจสอบระบบท่อ อุปกรณ์ บ่อพักน้ำในบ้านอย่างสม่ำเสมอด้วยว่าอยู่ในสภาพดีตลอดเวลาเช่นกัน
สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำประปาไหลอ่อนในบางพื้นที่
อาจเกิดจากสภาพพื้นที่จ่ายน้ำที่เป็นเนินสูงต่ำไม่เท่ากันและมีการใช้น้ำประปาพร้อมกันในช่วงเช้า-เย็น จึงทำให้แรงดันน้ำประปาลดลงและไหลอ่อน หากผู้ใช้น้ำประสบปัญหาน้ำไหลอ่อนผิดปกติ โปรดแจ้ง กปภ.สาขา ในพื้นที่ที่ท่านใช้บริการทราบ
- ตรวจดูประตูน้ำทั้งด้านหน้าและด้านหลังมาตรวัดน้ำว่าเปิดอยู่หรือไม่
- สอบถามเพื่อนบ้านข้างเคียงว่าน้ำประปาไหลหรือไม่
- สอบถามไปยัง กปภ.สาขา ในพื้นที่ที่ท่านใช้บริการ
- ทุกบ้านควรมีถังเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในทุกกรณีฉุกเฉิน ขนาดจุไม่น้อยกว่า 500-1,000 ลิตร
ทำไมค่าน้ำสูงผิดปกติ ?
- ค่าน้ำสูงผิดปกติอาจเกิดจากการรั่วไหลภายในบ้าน ได้แก่ ท่อแตก-รั่ว อุปกรณ์สุขภัณฑ์รั่วไหลทำให้มาตรวัดน้ำเดินอยู่ตลอดเวลา จึงควรหมั่นตรวจสอบด้วยการปิดก๊อกน้ำทุกตัวแล้วสังเกตดูการทำงานของมาตรวัดน้ำ หากมาตรยังเดินอยู่แสดงว่ามีท่อรั่วภายใน ก็ให้รีบติดต่อช่างมาทำการซ่อมแซมแก้ไขโดยเร็ว
- กรณีผู้ใช้น้ำไม่ได้พักอาศัยอยู่เป็นประจำ ควรทำการปิดประตูน้ำหลังมาตรวัดน้ำไว้เสมอ หากมีท่อรั่วภายในบ้านก็จะไม่ต้องสุญเสียน้ำที่จะต้องทำให้ต้องจ่ายค่าน้ำสูงขึ้น
การรักษาคุณภาพน้ำประปาในบ้านให้ดื่มได้
- หมั่นตรวจสอบท่อประปาและก๊อกน้ำภายในบ้าน หากผุกร่อนเป็นสนิมควรเปลี่ยนใหม่
- ไม่ควรติดตั้งเครื่องปั๊มสูบน้ำโดยตรงจากเส้นท่อ เพราะหากมีท่อแตก-รั่ว เครื่องดูดน้ำ จะดูดเอาสิ่งสกปรก เข้าไปในเส้นท่อด้วย
- เมื่อใช้เครื่องกรองน้ำ ควรทำความสะอาดเครื่องกรองตามที่ระบุไว้ เพราะเครื่องกรองน้ำอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ หากไม่ล้างทำความสะอาดตามข้อแนะนำของผู้ผลิต
- ควรทำความสะอาดถังหรือบ่อพักน้ำสม่ำเสมอเพราะอาจมีสิ่งสกปรกเข้าไปปะปนอยู่ในถังเก็บน้ำก็ได้
ผู้ใช้น้ำที่รับโอนมาจากการรับโอนกิจการประปา ต้องปฎิบัติดังนี้
- ขอให้ผู้ใช้น้ำเดิมที่รับโอนมาไปทำสัญญาการใช้น้ำใหม่กับการประปาส่วนภูมิภาค พร้อมเอกสารที่ต้องนำไปมีดังนี้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอติดตั้งประปาและมีชื่อผู้ใช้น้ำ อยู่ในทะเบียนบ้านนั้นด้วย
- ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำงวดสุดท้าย (ถ้ามี)
- เงินค่าประกันการใช้น้ำเก็บตามขนาดของมาตรวัดน้ำ
หากท่านเลิกใช้น้ำจะคืนเงินให้เต็มจำนวน ถ้าหากท่านไม่มีค่าน้ำค้างชำระ
- เงินค่าบริการทั่วไปต่อเดือน จะเก็บตามขนาดมาตรวัดน้ำ เพื่อการประปาส่วนภูมิภาค จะนำไปใช้บำรุงรักษาเส้นท่อเมนประปา และเปลี่ยนแปลงมาตรวัดน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี (ยกเว้นเส้นท่อภายในบ้านของท่าน)
หลักปฎิบัติของการประปาส่วนภูมิภาค
- การประปาจะส่งพนักงานมาอ่าน และจดเลขมาตรวัดน้ำเป็นประจำทุกเดือน พร้อมส่งใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปา
- กรณีพบท่อแตกหรือท่อรั่วก่อนเข้ามาตรวัดน้ำ โปรดแจ้งการประปาซ่อมด่วน เพื่อผลในการไหลของน้ำในบ้านของท่านเอง
- ถ้ามีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรวัดน้ำ โปรดแจ้งให้การประปาเป็นผู้ตรวจสอบและแก้ไขไม่ควรแก้ไขเอง
- การคิดราคาค่าน้ำ คิดตามอัตราของการประปาส่วนภูมิภาค
- การคิดราคาค่าบริการทั่วไป คิดตามขนาดของมาตรวัดน้ำ (บาท/เครื่อง/เดือน)